ชมวัดกรุงเก่า นอนเรือนไทยแท้ ๆ ที่ “อยุธยา รีทรีต”
เรื่องเดินทางท่องเที่ยว เหมือนอยู่ในเส้นเลือดไปแล้ว ในทุก ๆ ปี ต้องมีเดินทางท่องเที่ยวตลอด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมา หลายคนก็คงจะรู้กันดีว่าเราต่างเจอปัญหาวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทริปต่าง ๆ ต้องชะงักลงไปแบบหยุดยาว หยุดโดยไม่มีอะไรกั้น เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย(บ้าง) ก็เลยเริ่มหาที่เที่ยวกัน แต่ก็นั่นแหละคงเน้นในประเทศก่อน สำหรับต่างประเทศคงอีกนาน เพราะต้องรอให้อะไร ๆ มันดีขึ้นแบบร้อยเปอร์เซ็น ก็เลยตกลงกันว่า งั้นเราไปไหว้พระชมวัดเมืองเก่าที่อยุธยากัน เพราะยังไม่เคยไปที่นี่ด้วยกันเลย
เราเดินทางออกจาก กทม. กันช่วงสาย ๆ ขับรถไปเองเรื่อย ๆ วัดแรกที่ไปคือ วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นวัดมีความสำคัญทางประวัติศาตร์อย่างมาก สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ในตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งปี พ.ศ. 1900 สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขุดศพเจ้าแก้ว ซึ่งทิวงคตด้วยอหิวาตกโรคขึ้นมาเผา ที่ปลงศพนั้น โปรดให้สถาปนาเป็นพระอารามนามว่า “วัดป่าแก้ว”
ต่อมาคณะสงฆ์สำนักวัดป่าแก้วที่ได้บวชเรียนมา จากสำนักรัตนมหาเถระ ในประเทศศรีลังกาคณะสงฆ์นี้ เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวกรุงศรีอยุธยาอย่างมาก ทำให้ผู้คนต่างมาบวชเรียนในสำนักสงฆ์วัดป่าแก้วมากขึ้น สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง จึงทรงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้ เป็นสมเด็จพระวันรัตน์ มีตำแหน่งเป็นพระสังฆราชฝ่ายขวา คู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายคันถธุระ เวลาต่อมาเป็นที่พำนักของพระภิกษุคณะป่าแก้ว ซึ่งมี สมเด็จพระวันรัตน์ เป็นประธานสงฆ์ จึงได้ชื่อว่า “วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว”
เรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ของวัดป่าแก้วมีอยู่ว่า อุโบสถของวัด เคยเป็นที่ซึ่งคณะคิดกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ มาประชุมเสี่ยงเทียนอธิษฐาน ครั้งนั้นได้รับผลสำเร็จ จึงอัญเชิญพระเฑียรราชา ลาผนวช ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต่อมา พ.ศ. 2104 ในรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ นั้นเอง มีพระบรมราชโองการให้เอาสังฆราชวัดป่าแก้วไปสำเร็จโทษ ฐานฝักใฝ่ให้ฤกษ์ยามแก่ฝ่ายกบฎพระศรีศิลป์ พ.ศ. 2135
“วัดป่าแก้ว” หรือ “วัดเจ้าไท” ร้างลงเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ช่วง พ.ศ. 2309 – 2310 และหลังจากที่ร้างลงกว่า 400 ปี ก็มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี กลุ่มหนึ่ง โดยการนำของพระฉลวย สุธมฺโม เข้ามาฟื้นฟูเพื่อทำเป็นที่ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ 4 ปี จากนั้นท่านต้องการออกจาริกอีกครั้ง จึงนิมนต์พระครูภาวนาพิริยคุณ เจ้าอาวาสวัดยม อ.บางบาลให้มาดูแลวัดใหญ่ชัยมงคลต่อ
ต่อมา พระครูภาวนาพิริยคุณ ก็ได้นำคณะพระภิกษุสงฆ์ ฟื้นฟูวัดแห่งนี้จนมีพระภิกษุมาจำพรรษา ในปี พ.ศ. 2500 โดยได้ชื่อว่า วัดใหญ่ชัยมงคล ส่วนพระครูภาวนาพิริยคุณ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูภาวนารังสี” ต่อมาในปี 2536 พระครูภาวนารังสี ได้มรณภาพลง “พระปลัดแก่น ปุญฺญสมฺปนฺโน” หรือปัจจุบันเป็น “พระครูพิสุทธิ์บุญสาร” ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และได้ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์ ฯลฯ พัฒนาวัดใหญ่ชัยมงคล จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น และสำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดอยุธยา แห่งที่ 3
ปัจจุบันภายในวัดจะพบกับ “เจดีย์ชัยมงคลอนุสรณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่” ที่ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ทรงรบชนะ มังกะยอชวา พระมหาอุปราชของหงษาวดี ที่ ต.หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรี ซึ่งครั้งนั้นพม่าได้ยกทัพเข้ามาในขอบขันฑสีมา สมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระอนุชา) จึงนำทัพไปรับศึก และได้ขับช้างเข้าไปอยู่ในวงล้อมของข้าศึก ซึ่งในการทำยุทธหัตถีครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวร ทรงใช้พระแสงพลพ่าย ฟาดฟันพระอุปราชขาดตะพายแล่ง เมื่อกลับมาสู่พระนครแล้ว สมเด็จพระนเรศวร จึงโปรดให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ พระะราชทานนามว่า“เจดีย์ชัยมงคล” ในปี พ.ศ. 2135 มีความสูง 1 เส้น 1 วา เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยามาจนทุกวันนี้
** ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
จากนั้น ก็เดินทางเข้าที่พักของทริปนี้ นั่นก็คือ “อยุธยา รีทรีต” รีสอร์ตสไตล์เรือนไทยแท้ ๆ ผสมผสานกับร้าน café ที่ล้อมรอบไปด้วยบึงบัวตรงกลาง ถ้าใครมาที่อยุธยา แนะนำมาเช็คอินที่นี่ เพราะจะมีทั้งส่วนที่เป็นห้องพักบนเรือนไทย และส่วนที่เป็นร้านอาหาร มีมุมถ่ายรูปมากมาย และยังมีสระว่ายน้ำสำหรับลูกค้าที่เข้าพักค้างคืนที่นี่อีกด้วย
อยุธยา รีทรีต มีเมนูอาหารทั้งคาวหวาน คอยบริการอยู่มากมาย โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบอาหารไทยแท้ ๆ ต้องไม่พลาดที่จะมาชิม ส่วนอาหารเช้าของแขกผู้เข้าพัก จะเป็นอาหารจานเดียว เช่น ข้าวต้ม ไส้กรอก ไข่ดาว สามารถสั่งเบิ้ลได้ถ้าไม่อิ่ม 555 แถมยังมีขนมไทยบริการด้วย
ด้วยความที่ที่นี่เป็นบ้านพักสไตล์เรือนไทย ดังนั้นแขกแต่ละห้องจะไม่มีความวุ่นวาย และไม่ส่งเสียงดังไป ถือเป็นเรื่องที่ดี เหมาะสำหรับคนที่ต้องการการพักผ่อนจริง ๆ ในส่วนของคาเฟ่ร้านอาหาร จะเปิดประมาณ 9 โมงเช้าและปิดช่วงเย็น ดังนั้นความเป็นส่วนตัวจริง ๆ จะอยู่ช่วงที่ปิดให้บริการในส่วนของคาเฟ่ไปแล้ว หากอยากถ่ายรูปสวย ๆ ไม่ติดคน แนะนำให้นอนค้างคืน แล้วตื่นมาเดินเล่นถ่ายรูปตอนเช้า ร้านจะโล่งมากเป็นของเรา ในส่วนของห้องพัก จะมีห้องน้ำในตัว ใหญ่กว้างขวางและมีอ่างอาบน้ำด้วย สะดวกสบายอย่างมาก ราคาต่อคืนประมาณ 1,700 บาท สามารถจองกับรีสอร์ตได้โดยตรงหรือจองผ่าน booking หรือ agoda ก็ได้
เก็บข้าวของเรียบร้อยแล้ว ก็ออกไปชมวัดกันต่อเลยดีกว่าที่ วัดโลกยสุธาราม ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระราชวังหลวง วัดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ พระพุทธไสยาสน์ ปางไสยาสน์ ที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 1995 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ในรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช พระราชบิดาเจ้าสามพระยา มีพระพุทธไสยาสน์ ปางไสยาสน์ ที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยา มีความยาว 42 เมตร และสูง 8 เมตร ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง พระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ ที่พระเศียรมีดอกบัวรองรับ ตรงพระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก หากสังเกตดี ๆ จะพบว่านิ้วพระบาทยาวเท่ากัน สันนิษฐานว่า แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปไม่ทรงเครื่อง แต่ในปี พ.ศ. 2499 มีการบูรณะ คาดว่าคงมีการแก้พระเศียรเป็นอย่างพระพุทธรูปทรงเครื่อง และรอบ ๆ องค์พระ มีเสาอิฐ 8 เหลี่ยม รวม 24 ต้น คาดว่าแต่เดิมคงจะมีการสร้างวิหารครอบพระพุทธไสยาสน์ไว้ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าพังทลายลงเมื่อใด
สำหรับ พระพุทธไสยาสน์ องค์นี้ได้รับการขุดแต่งโดยโรงงานสุรา ร่วมกับกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2497 และต่อมาในปี พ.ศ. 2532 คุณหญิงระเบียบ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และครอบครัว ได้บูรณะพระพุทธไสยาสน์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ นาย ธำรง และ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี
เดินทางไปสู่ประตูแห่งกาลเวลาที่ วัดพระงาม คลองสระบัว วัดที่เด่นชัดในเรื่องของซุ้มประตู ที่ถูกปกคลุมไปด้วยรากของต้นโพธิ์เป็นเวลานานหลายร้อยปี นักท่องเที่ยวมักจะเรียกที่นี่ว่า “ประตูแห่งกาลเวลา” ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา มีเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นประธานของวัด สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และถูกทิ้งร้างหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 ถ้าใครอยากได้ภาพส่วนแนะนำให้ไปถ่ายภาพในช่วงเย็นประมาณ 6 โมงเย็น พระอาทิตย์จะสาดแสงผ่านซุ้มประตู สวยงามยิ่งนัก หรือถ้าอยากได้ฟิลแบบมีหมอกบาง ๆ ก็ให้มาช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน นอกจากจะได้แสงสวย ยังได้ภาพที่มีหมอกลอยทั่วบริเวณอีกด้วย
วัดนักบุญยอแซฟ เราถ่ายในช่วงเย็นจากอีกฟากนึงของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่นี่เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เป็นโบสถ์เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อาคารดั้งเดิมเป็นอาคารไม้และมีการบูรณะเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นหลังปัจจุบัน ตัวโบสถ์สีเหลืองที่มีความงดงามโดดเด่นยิ่งนัก
วัดนักบุญยอแซฟ เป็นศูนย์กลางของคริสตชนชาวสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีประวัติตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ ลอมแบรต์ เดอ ลาม็อต และพระสงฆ์อีก 2 รูป เข้ามาทูลขอสร้างวัดและโรงเรียน สมเด็จพระนารายณ์ จึงทรงพระราชทานที่ดินแปลงนึงให้ สมัยนั้นรู้จักกันในชื่อว่า “ค่ายนักบุญยอแซฟ” ต่อมาเมื่อสยามเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดก็ถูกเผาทำลาย ถูกปล้นทรัพย์สินไปหมด บาทหลวงปาลเลอกัว จึงกลับมาบูรณะวัดอีกครั้ง สำหรับโบสถ์หลังปัจจุบันนี้ มีอายุแล้วกว่า 132 ปี ซึ่งที่นี่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ในปี พ.ศ. 2548 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ปิดท้ายทริปนี้ที่ วัดไชยวัฒนาราม ถือเป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 เดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้ เคยเป็นที่อยู่ของพระราชมารดา ที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองได้เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ ครั้นเมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์จึงสร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นมา เพื่ออุทิศผลบุญนี้ให้กับพระราชมารดา แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเขมรด้วย จึงทำให้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัด
วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์ จึงได้รับการปฏิสังขรณ์มาทุกรัชสมัย เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สิ้นพระชนม์ ก็ได้ถวายพระเพลิงที่วัดแห่งนี้
ก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนาราม ถูกทำเป็นค่ายตั้งรับศึก หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดถูกปล่อยทิ้งให้ร้างเรื่อยมา บางครั้งมีโจรเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรจึงเข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535
ปิดทริปนี้เป็นที่เรียบร้อย ด้วยการเที่ยว 4 วัด กับ 1 ที่พักเก๋ ๆ สไตล์เรือนไทยแท้ ๆ เส้นทางการเดินทางไม่ยากลำบาก ไม่กี่ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ เปิด google map เดินทางสะดวกสบาย ลองหาโอกาสวันหยุดพักผ่อน ไปเปลี่ยนบรรยากาศซึมซับวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของเรา เพราะกว่าที่จะได้เป็นประเทศมันไม่ง่ายเลยจริง ๆ
ลาแล้ว “อยุธยา เมืองเก่าของเราแต่ก่อน” จนกว่าเราจะพบกันใหม่