เที่ยวบาหลี : Bali ด้วยตัวเอง 4 คืน 5 วัน เที่ยว-กิน-พัก ง่าย ๆ สบายกว่าที่คิด

“บาหลี” อินโดนีเซีย เที่ยวง่าย ๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แค่ติดต่อโรงแรม รถเช่าบริการ ให้เรียบร้อยทุกอย่างก็พร้อม เที่ยวง่าย ๆ 4 คืน 5 วัน โดยโปรแกรมมีดังนี้

นี่คือโปรแกรมคร่าว ๆ โดยให้ทางบริการรถเช่า ทำโปรแกรมมาให้ อันไหนเราไม่อยากไปก็บอกเขาไป หรือสถานที่ไหนอยากไปเพิ่มเติมนอกเหนือจากโปรแกรม ก็บอกเขาได้เช่นกันเขาก็จะตัดออกหรือเพิ่มเติมเข้าไปแล้วก็จะคิดราคามาให้ บริการรถเช่าใช้ของ Teddy Bali Tour คนไทยใช้กันเยอะ ทางเขาจะเข้าใจดีว่าคนไทยต้องการอะไร และใช้เมล์ในการติดต่อ หรือจะไปที่เฟซบุ๊กของเขาก็ได้ที่ Teddy Teddy Bali

พอถึงสนามบินที่บาหลีทาง Teddy Bali Tour ก็ถือป้ายชื่อที่เราแจ้งไว้รอรับ ตรงทางออกจะมีพนักงานมายืนรอดักขายซิมการ์ดเอาไว้ใช้เล่นเนต ใช้ได้ 7-10 วัน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,000 บาท หรือจะออกไปซื้อตามร้านค้าข้างนอกก็ได้ ราคาไม่น่าจะต่างกันมาก พอออกจากสนามบิน รถตู้ก็พาพวกเราไปแลกเปลี่ยนเงินกันก่อน แล้วไปกินมื้อเที่ยงกันที่ ร้าน Malioboro ร้านนี้ เหมือนร้านที่คอยต้อนรับกลุ่มทัวร์ (ส่วนตัวคิดว่ารสชาติธรรมดา แอบติดราคาแพงด้วยซ้ำ ถ้าใครคิดจะกินมื้อเที่ยง ลองหาข้อมูลร้านอื่น ๆ ดู เผื่อมีทางเลือกเพิ่มขึ้น แล้วก็แจ้งรถตู้)

สถานที่แรกคือ วัดอูลูวาตู Uluwatu (Temple on the cliffs) จ่ายค่าเข้าประมาณคนละ IDR 30,000 สำหรับวัดอูลูวาตู ตั้งอยู่บนหน้าผาริมทะเล มีความสูง 250 ฟุต หรือราว 76 เมตร นักท่องเที่ยวนิยมมาชมพระอาทิตย์ตกดิน ที่นี่เป็นวัดหลักประจำท้องทะเล ที่ชาวบาหลีทุกคนให้ความเคารพบูชา วิหารแห่งนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 10 ส่วนสถานชั้นในสุดอันศักดิ์สิทธิ์ จะเข้าได้เฉพาะผู้ที่จะสวดบูชาเพื่อบูชาเทพแห่งท้องทะเล ที่สำคัญ ใครไปวัดนี้ต้องไม่พลาดที่จะเจอกับเจ้าลิงแสนซนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเขตวัดอูลูวาตู แถมมีนิสัยขี้ขโมยอีกด้วย นักท่องเที่ยวควรระวังข้าวของไว้ให้ดี ๆ

จากนั้นก็ไป Water Blow at Nusa Dua beach ชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่นี่เหมือนสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีลานสนามหญ้ากว้าง ๆ ผู้คนมาเดินวิ่งออกกำลังกาย เดินตรงไปที่ Water Blow (โขดหน้าผาหินภูเขาไฟ) ไปชมหินที่ถูกน้ำซัดตลอดเวลา ถือได้ว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แปลกตาในทริปนี้

จากนั้น ก็เข้าที่พักทันทีที่ Bakung Ubud Resort and Villa และฝากท้องไว้กับอาหารมื้อค่ำของโรงแรม รสชาติอาหารอร่อยดีครับ (หรือจะกินร้านข้างนอกก็ลองปรึกษาคนขับรถดู) โดยสวนตัวพวกเราชอบที่นี่มาก เพราะเงียบสงบ แถมมีวิวนาข้าวเขียว ๆ ให้พวกเราได้ถ่ายภาพเอาไว้ด้วย (ราคาห้อง 1,400 ปลาย ๆ นอนห้องละ 2 คน พร้อมอาหารเช้า วิวนาข้าว เงียบสงบ มีบริการรถรับส่งไปย่านการค้า แหล่งกินดื่มเที่ยว และช็อปปิ้ง ข้อเสียคือถนนทางเข้าแคบ และสัญญาณ wifi ไม่ค่อยเสถียร)

 

วันที่ 2 เริ่มต้นกันที่ Tegalalang rice terrace View หรือจุดชมวิวนาข้าวขั้นบันได ย่าน Tegalalang เขต Gianyar  ตอนเหนือของอูบุด นาขั้นบันไดจะอยู่ข้างทางเลย ถือเป็นอีกจุดที่มีความสวยงาม แต่เส้นทางที่จะผ่านไปได้ เราต้องจ่ายค่าเข้าหรือค่าผ่านทางคนละ IDR 10,000 บริเวณนี้จะรายรอบเต็มไปด้วยร้านค้าขายของที่ระลึก ร้านอาหารและร้านกาแฟ มีบันไดให้เดินลงไปยังด้านล่าง และมีที่นั่งให้ชมวิวด้วย สำหรับการทำนาขั้นบันได “บาหลี” ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกก็ว่าได้ เพราะทำมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 9 มีช่วงระยะการปลูกและเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 210 วัน เพราะฉะนั้นสำหรับนักท่องเที่ยว ต้องวางแผนดี ๆ ว่าถ้าอยากจะมาเห็นนาข้าว ๆ ต้องมาเดือนไหน ส่วนพวกเรามาช่วงปลายกันยายน ต้นตุลาคม กำลังเขียวขจีกันเลย

ต่อกันที่ Obyek Wisata Gunung Kawi Sebatu Tegallalang สถานที่นี้ เป็นที่ที่คนขับรถเขาแถมเพิ่มเข้ามาให้ นอกเหนือจากโปรแกรมเดิมที่มี

จากนั้นพวกเราก็ออกเดินทางกันต่อ โดยไปที่ Pura Tirta empul ปุระ เตียต้า เอ็มพูล วัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ (Holy water temple) Pura แปลว่า วัด ส่วน Tirta Empul หมายถึงบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ จ่ายค่าเข้าคนละประมาณ IDR 15,000 เป็นศาสนสถานที่เก่าแก่มีอายุมากกว่าพันปี วัดถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ราว ปี ค.ศ.962 (ศตวรรษที่10-14) สมัยราชวงศ์วาร์มาเดวา (Warmadewa Dynasty) เป็นที่เคารพสักการะของชาวบาหลี ในสมัยโบราณใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาในราชวงศ์กษัตริย์เท่านั้น ต่อมาเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปกราบสักการะได้ ที่นี่จะมีบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ น้ำใสสะอาดที่ผุดขึ้นจากใต้ดิน โดยเชื่อว่าพระอินทร์เป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดน้ำพุ และชาวบาหลีก็เชื่อว่า ถ้าได้มาอาบน้ำที่นี่ จะถือว่าเป็นสิริมงคลกับตัวเอง และช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป แถมทั้งยังรักษาโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ซึ่งก่อนอาบน้ำ จะมีการทำพิธีบูชาเทพเจ้าแห่งน้ำพุที่แท่นบูชา ผู้ที่มาอาบน้ำ จะนำกระทงใส่ของสักการะ ที่ทำจากเปลือกต้นกล้วยหรือใบตอง ในกระทงนั้นจะมีทั้งอาหารและดอกไม้ จากนั้นให้เอากระทงวางบนแท่นหัวปล่อยน้ำ บางคนก็กรอกน้ำใส่ในขวด นำกลับบ้านเพื่อดื่มแก้โรคภัยไข้เจ็บ สำหรับวัดแต่ละแห่ง จะต้องใส่โสร่งหรือผ้าคลุมท่อนล่าง ตามธรรมเนียมของวัดฮินดู (ตอนที่ไป ก็เห็นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลงไปอาบน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์)

กินมื้อเที่ยงบุฟเฟ่ต์ ที่ร้าน Grand Puncak sari อาหารก็เป็นประเภทผัดหมี่ ไก่ทอด ผัดผัก ข้าว ไก่สะเต๊ะ ฯลฯ รสชาติก็พอกินได้ครับ แต่วิวสวยขั้นเทพ เบื้องหน้าโต๊ะอาหารของพวกเราคือ Kintamani volcano ราคาอาหารบุฟเฟ่ต์ตกคนละ IDR 90,000 เรื่องอาหารผมขอผ่าน เพราะไม่ถนัดลิ้นเลย แต่วิวที่ได้มาถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ ชอบมากจุดนี้ ขอแนะนำ

สำหรับ Kintamani คินตามณี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ บริเวณริมปากปล่องภูเขาไฟกุนุง บาตูร์ (Gunung Batur, Kintamani Volcano) เป็นภูเขาไฟที่มีอายุกว่า 50,000 ปี ซึ่งชาวบาหลีให้ความศรัทธาเป็นอย่างมาก ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่มหัศจรรย์ของโลก มีความสูงราว 1,717 เมตร ชื่อของหมู่บ้าน “คินตามณี” ได้ชื่อมาจากเมืองโบราณแห่งหนึ่ง หมู่บ้านตั้งอยู่ในตำบลคินตามณี (Kintamani) เขตบังลี (Bangli) ภาพภูเขาไฟที่เห็นเด่นตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ก็คือ ภูเขาไฟกุนุงบาตูร์ (Gunung Batur , Kintamani Volcano) ส่วนทะเลสาบที่เห็นอยู่ลิบ ๆ ก็คือ ทะเลสาบบาตูร์ (Batur Lake) เกิดจากการยุบตัวของภูเขาไฟดาเนาบาร์ตูร์ (Danau Batur) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด และตั้งอยู่บนหลุมปล่องภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน

และมาถึง “บาหลี” ทั้งที จะพลาดการชิม “กาแฟขี้ชะมด” ได้อย่างไร รถตู้ก็พาพวกเราไปลอง Luwak coffee ซึ่งก็มีอยู่หลากหลายร้านตามเส้นทางที่ผ่านไปมา จะมีวิธีการคล้าย ๆ กันคือ นำทั้งกาแฟและชาทั้งหมดของร้าน มาให้พวกเราได้ชิมฟรี จากนั้นถ้าชอบรสชาติไหน ก็สามารถซื้อกลับบ้านได้ ผมก็โดนมาทั้งชาและกาแฟเลยครับ ราคาก็สูงพอตัว แต่ถ้าไม่ซีเรียส หาซื้อตามห้างในเมืองก็ได้ ราคาอาจจะถูกกว่านิดหน่อย ชิมเสร็จแล้วก็กลับโรงแรม

 

เข้าสู่วันที่ 3 รถมารับแต่เช้า เพราะตารางท่องเที่ยววันนี้แน่นมาก เริ่มต้นด้วยการไปชม Barong dance performance at Batubulan village หรือ ระบำบารอง เสียค่าเข้าคนละประมาณ IDR 80,000 “ระบำบารอง” เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวบาหลี เป็นการผสมผสานระหว่างตัวแสดงที่เป็นคนและสัตว์ โดยมีเครื่องแต่งกายอลังการ มีการแสดงให้ชมอยู่หลายจุดบนเกาะบาหลี แต่จุดหลัก ๆ คือ หมู่บ้านหัตถกรรม Batubulan ตามตำนานของชาวบาหลีดั้งเดิม “บารอง” เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ต่อสู้กับแม่มดชั่วร้าย รังดา Rangda เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับกษัตริย์แอลังกา Airlangga ซึ่งเป็นกษัตริย์ในอดีตของเกาะบาหลี ถูกแม่มดรังดาเข้าควบคุมจนสร้างเดือดร้อน และสุดท้ายก็ต้องให้บารองมาต่อสู้และปราบแม่มดจนสันติสุขกลับคืนมา การร่ายรำที่มีการถลึงตา หรือกรอกตาไปมา มันคือเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ “ระบำบารอง” (Barong Dance)

จากนั้น เรามุ่งหน้าไปที่ Goa Gajah/ Elephant cave กัวกาจาห์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ถ้ำช้าง และเหมือนเดิมคือต้องจ่ายค่าเข้าสถานที่คนละประมาณ IDR 15,000 ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวดัตช์ เมื่อปี ค.ศ. 1923 เป็นวัดฮินดูที่โดดเด่นในด้านภูมิศาสตร์ เพราะเชื่อกันว่าโครงสร้างหินเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 10 และ 14 จะสังเกตเห็นว่าบริเวณทางเข้า คือจะต้องเดินผ่านปากของ ปีศาจ Kala เข้าไปในตัวถ้ำ มีดวงตาใหญ่โต ตัวถ้ำจะเป็นรูปตัว T ทางเดินค่อนข้างเล็ก พอเดินไปสุดทาง ด้านซ้ายจะมีประดิษฐานรูปสลักพระพิฆเนศ ส่วนทางด้านขวาเป็นบริเวณสักการะขนาดเล็กที่ประดิษฐานศิวลึงค์ 3 แท่ง แทนเทพ 3 องค์คือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม ตามความเชื่อของฮินดู รวมถึงยังมี “โยนี” สัญลักษณ์ของพลังแห่งการสร้างสรรค์ของเพศหญิง เดินต่อไปเรื่อย ๆ จะพบสวนที่มีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ชื่อว่า Patirtaan ซึ่งมีความเชื่อกันว่า น้ำที่นี่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ น้ำจะไหลพุ่งจากปากปล่องแกะสลักเป็นรูปอิสตรี 6 นาง ชาวบาหลีเชื่อว่า ถ้าใครอยากมีลูก ลองมาดื่มหรืออาบน้ำที่นี่ จะมีลูกสมดังหวัง

มื้อเที่ยงไปกินที่ร้าน Mahagiri เป็นบุฟเฟ่ต์รสชาติและหน้าตาก็เหมือนบุฟเฟต์ทั่ว ๆไป ราคาคนละ IDR 90,000 แต่เรื่องของวิวทิวทัศน์ รับรองมันดีต่อใจมากมาย แล้วยิ่งช่วงที่ไปถึงร้าน ฝนตกเสร็จพอดี จึงเต็มไปด้วยความชุ่มชื้น พร้อมๆกับการชมวิวนาข้าวขั้นได ผมใช้เวลาที่นี่นานพอสมควร ไม่ใช่เพราะรสชาติอาหารแต่เป็นเพราะธรรมชาติที่เห็นอยู่เบื้องหน้า มันดูงดงามมาก

เมื่อได้เวลาแล้ว ก็เดินทางไปต่อกันที่ Besakih Mother temple ปุราเบซากิห์ หรือ วัดเบซากีห์ วัดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของบาหลี จ่ายค่าธรรมเนียมเข้าชมคนละประมาณ IDR 15,000 ห้ามพลาดกับการมาเยือนที่แห่งนี้ เพราะถือว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญ วัดนี้มีมาอย่างยาวนานสร้างขึ้นราว ค.ศ.8 และได้รับการขยายให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในศตวรรษต่อ ๆ มา จนมีขนาดเท่าที่เห็นในปัจจุบัน เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของบาหลีที่ใหญ่ที่สุด และศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ตั้งอยู่บนลาดเขาชันของ กูนุง อากุง มีความสูงราว 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ว่ากันว่าวัดแห่งนี้ถือเป็นมารดาแห่งมวลวิหาร (Mother Temple) เพราะเป็นสถานที่สวดบูชาที่ใหญ่และสำคัญที่สุดประจำเกาะ

ข้อมูลจาก google บอกว่า จารึกโบราณระบุถึงเหตุการณ์ที่สำคัญของวัดในปี 1007 ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมสำหรับพระมเหสีของกษัตริย์อุทานายา ราชินีมเหนทราทัตตา ผู้สิ้นพระชนม์หนึ่งปีก่อนหน้านั้น ในช่วงศตวรรษที่ 14 ถึง 18 มีการสร้างวัดและแท่นบูชาเพิ่มเติมมากมาย ในศตวรรษที่ 15 “ปุราเบซากิห์” เป็นวัดประจำอาณาจักรของราชวงศ์เกลเกล ซึ่งได้สร้างวัดเล็กๆ หน้าตาเหมือนๆกันเพื่อบูชาเหล่าผู้ปกครองที่เคารพยิ่ง แม้ปัจจุบัน “ปุราเบซากิห์” จะอยู่ในเขตการางาเซ็ม แต่ผู้ที่จัดการวัด เป็นลูกหลานของราชวงศ์กลุงกุง ซึ่งเป็นทายาทโดยตรงของอาณาจักรเกลเกล

ว่ากันว่าวัดนี้มี มาเฟีย ที่จะมาคอยเก็บเงินเราเพิ่ม แต่พวกเราค่อนข้างทำข้อมูลมาบวกกับคนขับรถบอกว่า ให้พวกเราเดินด้านข้างของวัด อย่าเดินตรงกลาง เท่านี้เราก็ไม่ต้องจ่ายค่าอะไรเพิ่มอีกแล้ว ตลอดเส้นทางเดิน เราจะพบเห็นร้านค้าขายน้ำเป็นระยะ ๆ ทำให้สถานที่ดูไม่ค่อยจะสวยงามสักเท่าไหร่นัก น่าจะมีการจัดระเบียบที่ดีกว่านี้สักหน่อย พอเดินไปจนสุดทางก็จะเจอร้านค้าขายของที่ระลึกอีก 2-3 ร้าน แต่ราคาสูงพอตัว

 

เดินทางกันต่อ สักพักก็มาถึงที่ Penglipuran traditional village หมู่บ้านวัฒนธรรมโบราณ จ่ายค่าเข้าคนละ IDR 30,000 เพื่อชมบ้านในแบบบาหลีรูปแบบดั้งเดิม แวะเดินชมสถาปัตยกรรมแบบบาหลีแท้ ๆ ท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ เหมือนได้กลับบ้านมานั่งคุยเล่นกับคนที่นี่ บ้านบางหลังก็เปิดเป็นร้านค้าขายของเล็ก ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อของกลับไป ราคาก็สามารถต่อรองกันได้เหมือนเดิม

ค่ำคืนนี้เปลี่ยนโรงแรมมานอนที่ย่าน Kuta beach ย่านทะเลของที่นี่ จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ห้างร้านค้า แสงสีเสียงที่มีมากกว่าย่าน Ubud ยกสัมภาระเข้าพักที่ Asana Agung Putra Bali ถนนทางเข้าโรงแรมจะแคบหน่อย ตัดจากถนนหลักเข้าไปประมาณ 300 เมตร (ราคาห้อง 1,400 ปลาย ๆ นอนห้องละ 2 คน พร้อมอาหารเช้า ห้องใหญ่พอประมาณ เดินไป Kuta beach ได้ ราคาไม่แพงมาก)

 

เข้าสู่วันที่ 4 เริ่มต้นที่ Pura Tanah Lot / temple on the sea ปุรา ทานาห์ลอต หรือ วัดทานาห์ลอต วัดที่มีวิวสวยงามที่สุดของบาหลี นอกจากนี้ วัดทานาห์ลอตยังเป็น 1 ใน 7 วัดที่ถูกสร้างริมชายฝั่งทะเลของเกาะบาหลีอีกด้วย จ่ายค่าเข้าสถานที่คนละ IDR 30,000 เป็นอีกสถานที่สำคัญ ถ้าไม่ได้มาที่นี่ ก็ถือว่ายังมาไม่ถึงบาหลี

วัดทานาห์ลอต สร้างโดยนักบวชฮินดู ชื่อว่า “ดัง ฮยัง นิราร์ธา” ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16  เพื่ออุทิศแด่เทพเจ้าและปีศาจแห่งท้องทะเล ลักษณะการสร้างบนโขดหินคล้ายเกาะเล็ก ๆ เวลาน้ำขึ้น จึงดูเหมือนวัดอยู่กลางทะเล และเวลาน้ำลง นักท่องเที่ยวสามารถเดินข้ามทางเดินไปยังตัววัดได้ ชาวบาหลีให้ความเคารพบูชาอย่างมาก มีวิวทิวทัศน์และบรรยากาศที่สวยงาม แต่ช่วงวันและเวลาที่พวกเราไป น้ำทะเลขึ้นสูงพอดี ทำให้พวกเราและทุก ๆ คนอดเดินไปยังตัววัด แค่ได้ถ่ายภาพกลับมาก็ฟินแล้ว ด้านหน้าทางเข้าก็มีร้านค้ามากมายให้เราได้เลือกจับจ่ายซื้อของ ราคาก็ต้องต่อรอง เพราะเขาจะบวกเพิ่มขึ้นไปประมาณ 70 %

 

ไปต่ออีกสถานสำคัญ นั่นก็คือ Pura Ulun danu Beratan / temple on the lake วัดอูลัน ดานู บราตัน ค่าเข้าคนละ IDR 30,000 เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว เราจะต้องร้องโอ้โห เพราะเบื้องหน้าที่เห็นคือทะเลสาบที่กว้างใหญ่ แถมยังเจอกับอากาศที่เย็นสบายมาก ๆ

Pura Ulun danu Beratan วัดอูลัน ดานู บราตัน เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบ มีฉากหลังเป็นภูเขาไฟสูง เป็นวัดที่การท่องเที่ยวบาหลีนำมาโฆษณาการท่องเที่ยวของบาหลี วัดอูลัน ดานู บราตัน ตั้งอยู่บริเวณกลางน้ำริมทะเลสาบบราตัน สร้างตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 เพื่อใช้ทำพิธีทางศาสนาพุทธและฮินดู รวมทั้งอุทิศแด่เทวี ดานู เทพแห่งสายน้ำ มีลักษณะเด่นตรงศาลาซึ่งมีหลังคาทรงสูงที่เรียกว่าเมรุ มุงด้วยฟางซ้อนกันถึง 11 ชั้น งดงามยิ่งนัก

เมื่อเดินเข้าไปลึก ๆ เราจะพบกับ ทะเลสาบบราตัน (Lake Bratan) เป็นทะเลสาบที่กว้างใหญ่ มาพร้อมกับอากาศที่ดีมาก ๆ วิวทิวทัศน์ก็สวยงาม เหมือนเดินเที่ยวอยู่ในยุโรป ถ้ามาตอนเช้า ๆ แบบไร้หมอก เราก็จะได้เห็นวิวที่สวยงามของยอดเขาคินตามณี (Kintamani) เมาต์อากุง (Mount Angung) แถมภายในทะเลสาบแห่งนี้ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ ไม่ว่าจะเป็น การล่องเรือ และ สกีน้ำ

จากนั้นแวะกินมื้อเที่ยงแบบบุฟเฟ่ต์ที่ร้าน Mentari Restaurant คนละ IDR 90,000 ร้านตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับ Pura Ulun danu Beratan แต่วิวธรรมดา ถ้าพวกเพื่อน ๆไปแถวนั้น ลองหาร้านอื่นดูก็ได้ครับ เผื่อจะได้วิวที่สวยงามกว่านี้

จากนั้นพวกเราไปต่อกันที่ Pura Taman ayun / Royal temple วัดทามันอายุน ค่าเข้าคนละ IDR 20,000 สำหรับ ปุรา ทามัน อายุน เป็นวัดหลวงแห่งราชวงศ์เม็งวี เป็นวัดที่เคยเป็นวังเก่ามาก่อน สร้างตอนศตวรรษที่ 17 เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมของกษัตริย์ราชวงศ์เม็งวี กำแพง ประตูวัด ก่อด้วยหินสูง แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจง หลังคาปูด้วยหญ้า สิ่งก่อสร้างด้านใน ตกแต่งลวดลายงดงามตามแบบบาหลี มีสระน้ำล้อมรอบ ความใหญ่ของวัด ก็ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก Besakih Mother temple

ตรงเข้าไปอีกจะเป็น Main Gate (Kori Agung) จากจุดนี้ นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินผ่านประตูใหญ่เข้าไปได้ ให้เดินเลี้ยวซ้ายแล้ววนขวาเลาะตามขอบกำแพงวัดเพื่อชมด้านนอกแทน โดยกำแพงวัดจะเตี้ย ๆ หน่อย ทำให้เรามองผ่านเข้าไปชมวัดด้านในได้ ซึ่งจะมีคูน้ำล้อมรอบ โดยสิ่งก่อสร้างหลักของตัววัดชั้นใน จะเรียกว่า เจดีย์สูงใหญ่  (Meru) มีหลายองค์ด้วยกัน สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล ส่วนคูน้ำที่อยู่รอบๆวัด ว่ากันว่าเปรียบดั่ง มหาสมุทร เป็นการจำลองจักรวาลตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยเจดีย์ที่เห็นเหล่านี้ บางองค์สร้างเพื่อเป็นศาลเจ้าบูชาเทพแห่งภูเขา เช่น Gunung Batur, Gunung Agung และ Gunung Batukua

จากนั้นก็กลับโรงแรม ออกมาเดินเล่นที่ชายหาด Kuta beach ถ้าพูดง่าย ๆ คล้ายหาดบางแสน และด้านนอกริมถนน ก็จะมีห้างร้านค้ามากมายให้เราได้เลือกชมและสัมผัส นัดแนะกับคนขับรถมาให้มารับพวกเราในเวลาประมาณ 9 โมงเช้า เพื่อออกเดินทางไปยังสนามบิน

*****************************************
เช้าวันที่ 5 วันสุดท้ายของทริปนี้ เมื่อถึงสนามบิน พวกเราก็ทำการเคลียร์ค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับค่าบริการรถตู้ พร้อมทิปเล็กๆน้อยๆให้กับคนขับรถ เพราะนอกจากเขาจะทำหน้าที่ขับรถให้พวกเราแล้ว เขายังทำหน้าที่ไกด์บ้างในบางที หรือเกือบทุกที่ที่พวกเราได้ไปเยือน

และทั้งหมดนี้ ก็คือทริป บาหลี ของพวกเราครั้งแรก ก็รู้สึกประทับใจในหลากหลายเรื่องราวทั้งผู้คน สถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ทำให้พวกเราได้เห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ได้ศึกษาหาความรู้ใส่ตัว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

*** ข้อแนะนำ – สิ่งที่ควรรู้ ***

  • ราคาค่าเช่ารถบริการ / ค่าอาหาร / ค่าเข้าสถานที่สถานที่ต่าง ๆ เป็นราคาเมื่อปี 2559 แต่คิดว่าราคาไม่น่าจะหลีกหนีกันมากสักเท่าไหร่
  • อัตราค่าเงิน IDR อินโดนีเซีย / 1 ดอลลาร์ = ประมาณ 15,000 IDR
  • เวลาซื้อของให้ต่อราคาเกือบ 50-70 % เพราะแม่ค้าเขาจะบวกราคาอยู่เสมอ แต่ก็อย่าต่อราคาจนเกินงาม จนแม่ค้าไม่ได้กำไร หากต่อแล้วไม่ได้ ก็เปลี่ยนร้าน
  • ตามวัดต่าง ๆ ที่ไป จะมีร้านค้าขายของที่ระลึกเกือบทุกที่ ถ้าชอบก็ต่อราคาซื้อของไปเลย
  • ถ้าไม่ถนัดอาหารอินโดฯ แนะนำพกโจ๊กซองหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสแซบๆ ไปด้วย
  • ร้าน KFC รสชาติไก่ และ น้ำจิ้ม ไม่เหมือนประเทศไทยบ้านเรา
  • ซิมเล่นเนต จะซื้อที่สนามบินได้เลย มีจนท.จัดการให้ หรือจะออกมาซื้อที่ร้านค้าข้างนอกก็ได้ เพราะราคาและช่วงวันในการใช้งานไม่ต่างกันมาก (ผมซื้อจากสนามบินเลย)
  • อินเทอร์เนตที่โรงแรมหรือรีสอร์ท ไม่ค่อยเสถียร
  • “ปลั๊กไฟ” ที่บาหลี ต้องเป็นรูปลั๊กไฟที่เป็นขากลม ๆ 2 ขาเท่านั้น แนะนำพก Adaptor ที่สามารถแปลงหัวปลั๊กเป็นแบบเดียวกับที่บาหลีใช้งานติดตัวไปด้วย และที่นี่ใช้ไฟ 220 VAC 50 Hz เหมือนประเทศไทย
Please follow and like us: